การทำงานที่ดี ตามรอยพ่อหลวง ร.๙

แนวคิดการทำงานที่ดี ตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9.jpg

      ทางทีมงาน บริษัท อัพ จำกัด ขอน้อมนำ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และ
พระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช พระผู้ทรงเป็นแบบอย่าง
ที่ดีงามแก่ประชาชนชาวไทย     มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และสิริมงคลแก่ชีวิต
ซึ่งพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ท่านที่คัดเลือกมานี้ พวกเราสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในการทำงานและใช้ชีวิตชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน
จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาท ด้วยการทบทวน ยึดถือ และน้อมนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์สุขต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ

 

1.กำหนดเป้าหมาย

''...การทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขตและ
หลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถ ปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง และ ถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกันและ ขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง
ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง...''   

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
17 กรกฎาคม 2530   

 

2. ทำงานตามจุดมุ่งหมายของงาน

...เมื่อทำงาน ต้องมุ่งถึงจุดมุ่งหมาย ที่แท้จริงของงาน งานจึงจะสำเร็จ ได้รับประโยชน์ครบถ้วน ทั้งประโยชน์ของงาน และประโยชน์ของผู้ทำ...''

พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน, 1 เมษายน 2532

 

3. มีจรรยาบรรณในการทำงาน

“...การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนในอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติ หากผู้ใดล่วงละเมิดก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่บุคคล
หมู่คณะ และส่วนรวมได้ เหตุนี้ ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะต้องมีความรู้
ในสาขาของตนอย่างลึกซึ้ง จัดเจนและศึกษาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอแล้ว ยังจะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย จึงจะสามารถประพฤติตนปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จได้รับความเชื่อถือยกย่องในเกียรติ ในศักดิ์ศรีและความสามารถด้วยประการทั้งปวง...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 4 กรกฎาคม 2540

 

4. มีความเพียร

“...ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้
ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม...”

พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539

 

5. ไม่ท้อถอย

''...อุปสรรคสำคัญของการทำงาน คือความท้อถอยและความหวั่นเกรงต่อ อิทธิพลต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุบั่นทอนความสามารถ ในตน กับทั้งความเที่ยงตรงต่อหน้าที่ อย่างร้ายกาจ
จึงต้องระมัดระวังควบคุมสติ และรักษาความสุจริตเป็นธรรมไว้ให้ได้ ตลอดเวลา...''     

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ 
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 18 เมษายน 2532  

 

6. แก้ปัญหาด้วยปัญญา

“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ได้อย่างสมบูรณ์ การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่
เกี่ยวเนื่องกันเป็น กระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1 สิงหาคม 2539

 

· "...ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่าง ๆ เป็นอุปสรรค ขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั่งโลกก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและกิจการงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา
ข้อสำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมาย มีความสำเร็จสูง ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้..."

พระบรมราโชวาทของ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่
31 กรกฎาคม พ.ศ. 2539

 

"ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข
อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้
ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คน หลายๆ ทาง
ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน"

พระบรมราโชวาทของ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 วันที่
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2533

 

7. สุจริต

''...การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความ สุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิดเห็น ที่เป็นอิสระปราศจากอคติ และด้วย ความถูกต้องตามเหตุตามผลจึง จะช่วยให้งานบรรลุจุดมุ่งหมาย และประโยชน์ที่พึง ประสงค์โดยครบถ้วนแท้จริง...''  

พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน,
1 เมษายน 2528

 

...ข้าพเจ้าขอฝากคติไว้เป็นเครื่องกำกับใจ มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งท่านต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ คือ ความสัตย์สุจริตประเทศบ้านเมืองจะวัฒนาถาวรอยู่ได้
ก็ย่อมอาศัยความสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ท่านทั้งหลายจะออกไปรับราชการก็ดี หรือประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ดี ขอให้มั่นอยู่ในคุณธรรมทั้ง 3 ประการคือ สุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่ ท่านจึงจะเป็นผู้ที่ควรแก่การสรรเสริญของมวลชนทั่วไป...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่
12 มิถุนายน 2497

 

7. มีความรับผิดชอบ

การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปโดยราบรื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน สำคัญที่สุดต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ความรับผิดชอบ” ให้ถูกต้อง
ขอให้เข้าใจว่า “รับผิด” ไม่ใช่การรับโทษ หรือถูกลงโทษ “รับชอบ” ไม่ใช่รับรางวัล หรือรับคำชมเชย การรู้จักรับผิด หรือยอมรับรู้ว่าอะไรผิดพลาดเสียหาย และเสียหายเพราะอะไร เพียงใดนั้น มีประโยชน์ ทำให้บุคคลรู้จักพิจารณาตนเอง ยอมรับความผิดของตนเองโดยใจจริง เป็นทางที่จะช่วยให้แก้ไขความผิดได้ และให้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติแก้ไขใหม่ ส่วนการรู้จักชอบหรือรู้ว่าอะไรถูก อันได้แก่ถูกตามความมุ่งหมาย ถูกตามหลักวิชา ถูกตามวิธีการนั้น มีประโยชน์ทำให้ทราบแจ้งว่าจะทำให้งานสำเร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร จักได้ถือปฏิบัติต่อไป นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “รับผิดชอบ” ตามนัยดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เข้าใจซึ้งในความรับผิดชอบ จะสำนึกตระหนักได้ทันทีว่า ความรับผิดชอบคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้ จึงใคร่ขอให้บัณฑิตศึกษาและสังวรระวังในความรับผิดชอบให้มากที่สุด ผู้ใดมีความรับผิดชอบ จะสามารถประกอบการงานให้บรรลุผลสำเร็จ ตามที่มุ่งหมายไว้ ได้อย่างแน่นอน...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่
16 กรกฎาคม 2519

 

8. ตั้งตนอยู่บนความดี

“...ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว
ว่าเสื่อม
 เราต้องฝืนต้องต้านความคิด และความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้องและเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมามาก ๆ ขึ้น 
ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ...” 

พระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่12

ที่พระนครศรีอยุธยา วันที่ 12 ธันวาคม 2513

 

“เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ที่บุคคลในสังคมนั้นย่อมมีอัชฌาสัยจิตใจแตกต่างเหลื่อมล้ำกันเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานภูมิธรรมของตน บางคนก็มีความคิดจิตใจสูง
มีความประพฤติปฏิบัติดีงาม
 เป็นคุณเป็นประโยชน์อยู่แล้วเป็นปกติ แต่บางคนไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เพราะยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติดี จึงมักก่อปัญหาให้เกิดแก่สังคม คนเรานั้น สำคัญอยู่ที่ควรจะได้ปรารภปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ 
เพื่อให้ชีวิตเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง”

พระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๖
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔ 

 

“การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการ
ของมนุษย์
จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว
ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ 
โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙

 

'...แต่ละคนก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติงาน ของตน ที่เรียกว่าอาชีพของตน ถ้าทำดีก็เป็น
สิ่งที่น่าชมและน่าปลาบปลื้มใจ เป็น ประโยชน์แก่ตัวเองและถ้ากิจการที่ทำ มีความเจริญในทางที่ดีที่ชอบก็ ทำให้ส่วนรวมของชาติบ้านเมือง มีความ ก้าวหน้าด้วยดี...''  

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา, 4 ธันวาคม 2518  

 

9. ความพอดี พอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง…เป็นการทั้งเศรษฐกิจหรือความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็น
การกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข….

ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง ภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ใครต่อใครก็ต่อว่า…ว่าไม่มี จะว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่าประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล
จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง…“

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2543

 

“...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้
ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง
อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร
บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร
ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙.

 

“สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน สมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะ
ทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีความพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า
มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541

 

“…การอยู่พอมีพอกิน ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความก้าวหน้า มันจะมีความก้าวหน้าแค่
พอประมาณ ถ้าก้าวหน้าเร็วเกินไป ไปถึงขึ้นเขายังไม่ถึงยอดเขา หัวใจวาย แล้วก็หล่นจากเขา ถ้าบุคคลหล่นจากเขา ก็ไม่เป็นไร ช่างหัวเขา แต่ว่าถ้าคนๆ เดียวขึ้นไปวิ่งบนเขา
แล้วหล่นลงมา บางทีทับคนอื่น ทำให้คนอื่นต้องหล่นไปด้วย อันนี้เดือดร้อน…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 30 พฤษภาคม 2544

 

 

10. มีสมาธิ

        จากหนังสือ “สมาธิกับการทำงาน และพระสมาธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดย พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร ที่ได้กล่าวถึงพระจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระ- ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการที่พระองค์ทรงใช้สมาธิในการทรงงาน และทรงมีพระ- วิริยะอุตสาหะในการฝึกพระองค์เองในเรื่องสมาธิ ดังเช่นตอนหนึ่งของหนังสือ กล่าวว่า

 

“พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงศึกษาและปฏิบัติสมาธิแต่อย่างเดียว หากยังทรงนำสมาธิไปใช้ในพระราชกรณียกิจทุกองค์ด้วย จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นพระราชกิจใดก็ตาม ทรงสามารถทำสิ่งที่ตามปกติเราท่านทำไมได้ หรือทำได้ยาก เช่น การประทับอยู่ในพระอิริยาบทเดียวติดต่อกันไปเป็นเวลานานเป็นชั่วโมง ๆ ไม่น่าเชื่อว่าทรงปฏิบัติได้โดยไม่มีพระอาการเหนื่อยหรือง่วงเลยแม้แต่น้อย” (หน้า 53)

 

        ท่านผู้เขียนได้บอกอีกว่า “เมื่อใจอยู่กับที่แล้ว ใจได้พักแล้ว ใจก็จะสงบ เจ้าของใจจะรู้เองว่าใจที่สงบเป็นใจที่ได้รับการบริหารและพัฒนา กลายเป็นใจที่มีพลัง จะทำอะไรใจก็จดจ่อกำกับสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด ไม่ขาดตอน คนมีสมาธิจึงเป็นคนที่ทำงานทุกอย่างเสร็จเร็วและเรียบร้อยไม่บกพร่อง สามารถรับงานปริมาณมาก ๆ และงานหนักได้โดยไม่มีปัญหาเหมือนคนขาดสมาธิ”   

          

11. การดูแลสุขภาพ

“ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลยหรือใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อย ๆ
เสื่อมไปเป็นลำดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผู้ที่ปรกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้น จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความสามารถของเขาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับกลายอ่อนแอลงนั้น จะไม่อำนวยโอกาสให้ทำการงานโดยมีประสิทธิภาพได้...
"

พระราชดำรัส เพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมสัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ 
วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓

 

...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่
มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดี พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรเศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย
คือเป็นผู้แต่งสร้างมิใช่ผู้ถ่วงความ เจริญ...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตุลาคม ๒๕๒๒

 

12. มีหลักและวิธีการที่ถูกต้อง

“...ผู้ที่ตั้งใจเข้ามาศึกษาวิชาการขั้นสูง ย่อมต้องปรารถนาจะใช้ความรู้ความสามารถที่อุตสาหะอบรมฝึกฝนมา ปฏิบัติงานให้เป็นผลดีแก่ตัว แก่สังคมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ การปฏิบัติงานให้ได้ผลดังปรารถนานั้น จำเป็นต้องมีหลักและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม หลักสำคัญประการหนึ่ง คือ การศึกษาสภาพความจริงของงาน
ของบุคคล ของสังคม ภาวะแวดล้อมอื่น ๆ ให้กระจ่างอย่างทั่วถึงอีกประการหนึ่ง
การละความเครียดในหลักวิชาให้เบาบางลง กล่าวคือ รู้จักพิจารณาใช้หลักวิชาตาม
ความสำคัญและจำเป็น เพื่อมิให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตามหลักวิชากลายเป็นสิ่งกีดขวาง
การปฏิบัติไป...

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2516

 

 

ธ สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์
    น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
       

                                    ข้าพระพุทธเจ้า บริษัท อัพ จำกัด