วิธีการจัดการเงินให้มีประสิทธิภาพ

วิธีการจัดการเงินให้มีประสิทธิภาพ.jpg

          การบริหารเงินไม่ใช่สิ่งที่บรรจุเป็นวิชาใช้สอนกันในโรงเรียนอย่างแพร่หลาย แต่เป็นสิ่งที่เกือบทุกคนจะต้องเรียนรู้และจัดการกับชีวิตของพวกเขาในภายหลัง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังย่ำแย่ การวางแผนบริหารจัดการเงินอย่างรอบครอบจะช่วยให้คุณสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้แม้ว่าเศรษฐกิจรอบตัวคุณจะย่ำแย่แค่ไหน

 

1. การวางแผนการเงิน

          ขั้นตอนแรกของการวางแผนการใช้เงิน คือ การสำรวจอุปนิสัย เงื่อนไข วิธีการใช้เงิน และข้อจำกัดของตัวคุณเองค่ะ เช่น คุณมีภาระรายจ่ายใดบ้างที่คุณต้องเสียทุก ๆ เดือน คุณมักจะใช้เงินไปกับเรื่องหรือสิ่งใดบ้าง จากนั้นให้กำหนดเป้าหมายทางการเงินของคุณ ตามระยะเวลาหนึ่ง อาจจะ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แต่ถ้าเป็นเป้าหมายระยะสั้นก็ไม่ควรน้อยกว่า 1 ปี เช่น  “ฉันจะต้องมีเงินเก็บให้ XXX,XXX บาท ภายใน 3 ปี” หรือ “ฉันจะต้องมีรายรับ XXX,XXX บาท ภายใน 5 ปี” สิ่งสำคัญก็คือการกำหนดเป้าหมายจะต้องไม่ง่ายและเพ้อฝันจนเกินไป เพื่อไม่ให้คุณหย่อนยานในการบริหารเงินหรือสิ้นหวังจนเกินไปค่ะ ซึ่งเมื่อคุณได้เป้าหมายแล้ว ให้คุณเริ่มวางแผนจัดสรรการหาและใช้จ่ายเงินอย่างหมายสมและเป็นไปตามเป้าหมายที่คุณตั้งใจ เช่น การกันเงินที่ต้องการออมเอาไว้ก่อน  หรือนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในเรื่องต่าง ๆ โดยคาดคะเนให้ตัวเลขเป็นไปตามแผ่นที่วางเอาไว้  ถ้าปฏิบัติตามแผนแล้วตัวเองยังห่างไกลจากเป้าหมายที่เราว่างไว้ ก็ให้ลองปรับรายรับหรือรายจ่ายให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

 

2. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

          รวบรวมตัวเลขรายรับและรายจ่ายที่คุณได้รับและจ่ายในเดือนนั้น ๆ เช่น เงินเดือน ค่าโอที รายได้พิเศษอื่น ๆ ค่าเช่า ค่าอาหาร เป็นต้น แล้วทำการจดบันทึกเพื่อให้เห็นการเข้าออกของเงินทั้งหมดที่อยู่ในมือของคุณ ทำเป็นตารางให้เข้าใจง่ายและเป็นระเบียบเรียบร้อย  แล้วเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง อาจจะเป็นสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือ สามเดือน ให้คุณนำยอดรวมในบัญชีมาดูว่าคุณมีเงินคงเหลือน้อยกว่า 15% หรือไม่ ตัวเลขในแต่ละเดือนติดลบหรือเปล่า  ถ้ามีตัวเลขติดลบหรือเงินเก็บน้อยเกินไป ก็คงต้องกลับไปดูที่บัญชีของคุณอีกครั้งแล้วค่ะว่า มีรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอันไหนที่เราควรจะลดหรือตัดออกหรือเปล่า  การทำบัญชีรายรับรายจ่ายคือเครื่องมือสำคัญที่จะคอยรายงานและช่วยเตือนสติตัวคุณว่าสถานการณ์การเงินของคุณเป็นอย่างไรและเงินที่คุณคิดว่ามันหายไปที่จริงแล้วมันเดินไปอยู่ที่ไหนกันแน่

 

3. การออม

          การเก็บออมควรแยกบัญชีเงินฝากเป็น 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีใช้จ่ายเผื่อฉุกเฉิน บัญชีเงินออม และบัญชีเพื่อการลงทุน  ซึ่งเคล็ดลับการออมนั้น มี 2 วิธี คือ ออมแบบลบสิบ โดยหักเงิน 10%  ของรายได้ทุกเดือนมาเป็นเงินออม วิธีเหมาะกับคนที่มีวินัยในการออม  ส่วนวิธีที่ 2 คือ ออมแบบเพิ่มสิบ สำหรับคนที่ชอบซื้อ  เมื่อซื้อของสิ่งใดก็ตามให้เพิ่มเงินอีก 10% ของมูลค่ามาเป็นเงินออม

 

4. การบริหารหนี้ หนีกับดักทางการเงิน

          หนี้มีทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ฟุ่มเฟือย” ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ สำหรับหนี้ดี คือ หนี้ที่นำไปซื้อสิ่งของจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เช่น บ้าน การศึกษาของลูก ส่วนหนี้ฟุ่มเฟือย คือ หนี้ที่เกิดจากเรื่องที่ไม่จำเป็น สุรุ่ยสุร่าย เช่น  กู้เงินเพื่อซื้อฮาร์เลย์ไว้อวดสาว หรือการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนทุกครึ่งปี ทั้งนี้วิธีการที่ดีที่สุดในการลดหนี้  คือ พยายามใส่เงินจำนวนมากที่สุดโดยไม่กระทบกับรายจ่ายประจำที่จำเป็นเพื่อชำระ หนี้สินที่ถูกคิดดอกเบี้ยแพงที่สุด เช่น บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ และที่สำคัญคุณจะต้องไม่สร้างนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

 

5. วางแผนประหยัดภาษี

        วิธีง่ายๆ คือ สรรหาค่าลดหย่อน  ประกอบด้วย ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน เงินบริจาค ค่าเลี้ยงดูบุตร  ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันชีวิต  และเงินลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเพื่อสนับสนุนการออม  และหากคุณรับงานนอก ควรวางแผนให้ดีว่า จะรับเงินเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือน  (ภงด.91) หรือรับเป็นงานเหมา  ซึ่งต้องไปเสียภาษีเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจทั่วไป (ภงด.90)  ลองคำนวณดูว่าวิธีการเสียภาษีแบบใดจะประหยัดเงินคุณมากกว่า

 

6. ก่อนจูงมือไปแต่งงาน

        คู่สมรสควรวางแผนอนาคตทางการเงินระยะ ยาวถึง 10 ปี และให้จัดแยกเงินออกเป็นหลายๆ บัญชี  ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินแต่ละประเภท จากผลการสำรวจพบว่า  งานแต่งงานต้องใช้เงินถึงหลักแสนทีเดียว ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ คือ  ค่าจัดเลี้ยงในโรงแรม ค่าของชำร่วย ค่าการ์ดเชิญ และค่าถ่ายภาพคู่ในสตูดิโอ  ทั้งนี้มีเคล็ดลับในการประหยัดค่าใช้จ่ายแต่งงาน ดังนี้

1)  แต่งงานตอนกลางวัน โรงแรมส่วนใหญ่จะคิดราคาในการจัดเลี้ยงได้ถูกลง

2)  แบ่งปันข้าวของกับคู่บ่าวสาวรายอื่น

3) ลดขนาดเค้กแต่งงานเหลือแค่ 2 ชั้นพอ 

4) พยายามตกแต่งบรรยากาศในงานด้วยใบไม้และใช้ดอกไม้ให้น้อยลง

5)  เลือกชุดแต่งงานเรียบง่าย หรือเช่าชุดแต่งงานเพื่อประหยัดงบ

และ 6)  คำนวณจำนวนแขกให้พอเหมาะพอดี

 

7. แผนการเงินเพื่อซื้อรถยนต์

          ค่าใช้จ่ายในการซื้อรถ ไม่ควรเกินอัตรา 15%  ของรายได้ครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดภาระผ่อนส่งเกินตัว  เมื่อคิดซื้อรถให้เลือกรถที่พอคุ้มค่ากับการใช้งาน  ถ้าคุณวางแผนที่จะกู้เงินซื้อรถ  ควรเลือกธนาคารหรือไฟแนนซ์ที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือเงื่อนไขที่ดีกว่า  สูตรการคิดอัตราดอกเบี้ย ระหว่างธนาคารและบริษัทไฟแนนซ์จะแตกต่างกัน  โดยธนาคารจะคิดแบบ “ลดต้นลดดอก” ในขณะที่ไฟแนนซ์จะคิดแบบ  “ดอกเบี้ยรวมเงินต้น” ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ทางที่ดีควรคุยกับทั้ง 2ฝ่าย แล้วเปรียบเทียบว่าตัวเองเหมาะกับสิ่งใด

 

8. แผนการเงินเพื่อซื้อบ้าน

          ควรประเมินกำลังซื้อก่อนจะซื้อบ้าน ราคาบ้านที่จะซื้อไม่ควรเกิน 30 เท่าของรายได้ต่อเดือนของครอบครัว และค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านรายเดือนก็ไม่ควรเกิน 25-30% ของรายได้ต่อเดือน  หลักสำคัญในการขอสินเชื่อบ้าน คือ “เลือกโครงการที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด  กู้เงินให้น้อยที่สุด และผ่อนชำระให้เร็วที่สุด”  โดยต้องมั่นใจว่ามีเงินสดมากพอที่จะวางดาวน์ เพราะโดยทั่วไป  โครงการบ้านจัดสรรมักจะให้ผู้ซื้อจ่ายเงินดาวน์ซื้อบ้านประมาณ 20%  และสามารถกู้ได้แค่ 80% ของราคาบ้าน

 

 

9. แผนการเงินยามเกษียณ

        ก่อนอื่น  คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไร  และถึงเวลานั้นอยากมีเงินเดือนใช้เดือนละเท่าไร สำหรับคนทำงานกินเงินเดือน  แนะนำให้คุณประมาณการเงินเดือนสุดท้าย ณ วันที่จะเกษียณอายุแล้วหารด้วย 2ตัวเลขนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่คุณต้องใช้หลังเกษียณ  ในการดูว่าเงินออมก้อนที่มีในปัจจุบันพอเพียงสำหรับการดำรงชีพในอนาคตหรือ ไม่ ให้คุณคำนวณเงินที่คุณควรมีเมื่อตอนเกษียณ โดยเอา 1 หาร 10คูณอายุปัจจุบันและคูณรายได้ทั้งปี หากคุณมีเงินออมน้อยกว่าที่คำนวณได้  คุณควรต้องเก็บเงินในสัดส่วนที่มากขึ้นจึงจะพอใช้จ่ายในอนาคต

 

10. การลงทุนและการจัดสำหรับลงทุน

        ก่อนที่คุณจะลงทุน  คุณควรคำนวณเสียก่อนว่า คุณได้แบ่งเงินไว้สำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน  และกันไว้สำหรับสร้างหลักประกันเรียบร้อยแล้ว  เงินที่เหลือจะเป็นเงินที่คุณนำมาลงทุนได้ ซึ่งประเภทของการลงทุน มีตั้งแต่  หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม และเงินฝาก  เหล่านี้ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด

 

          ทั้งหมดนี้เป็นวิธีบริหารเงินที่จะทำให้ทุกคนมีกินมีใช้แบบไม่จนตลอดปีและตลอดไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหนก็ตาม

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  24 ตุลาคม 2550

ภาพจาก  http://infoleet.com/

Admin : Gossy